Academics

ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการ
คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

 

มีการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น

1. Bachelor’s degree  (หลักสูตรในระดับปริญญาตรี)

– หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมอุตสาหการ, Industrial Engineering: B.Eng.)

– หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์, Industrial Engineering & Logistics Management: B.Eng.)

 

2. Master’s degree  (หลักสูตรในระดับปริญญาโท)

– หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรรมหาบัณฑิต (การจัดการวิศวกรรม, Engineering Management: M.Eng.)

 

3. Doctoral’s degree  (หลักสูตรในระดับปริญญาเอก)

– หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต (การจัดการวิศวกรรม, Engineering Management: Ph.D.)

 

หลักสูตรที่ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการเปิดสอน

 

1. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมอุตสาหการ)

คำอธิบายหลักสูตร

วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering) เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับ การออกแบบ การปรับปรุงและการ จัดตั้งระบบผสมผสานระหว่าง คน วัสดุ ข้อมูลข่าวสาร เครื่องจักรอุปกรณ์ และพลังงาน ซึ่งในการนี้จะต้องใช้ ความชำนาญในเชิงคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และสังคมศาสตร์ ร่วมกันไป โดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีวิเคราะห์ทาง วิศวกรรมศาสตร์มาใช้ออกแบบเพื่อระบุ ทำนาย และประเมินผลการทำงานของระบบดังกล่าว

 

2. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์)

คำอธิบายหลักสูตร

วิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ (Management Engineering and Logistics) เป็นแขนงวิชาที่ผสม ผสานหลักการและวิธีการทางด้านวิศวกรรมอุตสาหกรรม การจัดการ และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยนำมาใช้ใน การจัดการองค์กรเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการสูงสุดและมีผลผลิตมากที่สุดวิศวกรรมการจัดการจะเน้นที่ การออกแบบ วางแผน และบริหารหน่วยงานต่างๆในองค์กร โดยจะพิจารณาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติงานของ หน่วยงานและองค์กร เช่น การเงิน บุคลากร การจัดซื้อ การวางแผนและควบคุมการผลิต (และการให้บริการ) การจัดการคุณภาพ การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การจัดการโซ่อุปทาน เป็นต้น

 

3. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการวิศวกรรม)

คำอธิบายหลักสูตร

การจัดการวิศวกรรม (Engineering Management) เป็นแขนงวิชาที่ผสมผสานหลักการและวิธีการทางด้าน วิศวกรรมอุตสาหการ การจัดการ และเทคโนโลยีข้อมูล โดยนำมาใช้ในการจัดการองค์กรเพื่อให้มีประสิทธิภาพใน การให้บริการสูงสุดและมีผลผลิตมากที่สุด การจัดการวิศวกรรมจะเน้นที่การออกแบบ วางแผน และบริหาร หน่วยงานต่างๆ ในองค์กร โดยจะพิจารณาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานและองค์กร เช่น การเงิน บุคลากร การจัดซื้อ การวางแผนและควบคุมการผลิต (และการให้บริการ) การจัดการคุณภาพ การจัดการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การจัดการโซ่อุปทาน เป็นต้น

 

จุดเด่นของหลักสูตร

  • หลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการและหลักสูตรวิศวกรรมการจัดการโลจิสติกส์ ผ่านการรับรองหลักสูตรจากสภาวิศวกร บัณฑิตที่จบการศึกษาสามารถสอบขอรับใบประกอบวิชาชีพได้
  • หลักสูตรส่งเสริมประสบการณ์ด้วยการฝึกงานในสถานประกอบการจริงและสามารถเลือกเรียนหลักสูตรสหกิจศึกษา
  • มีกิจกรรมส่งเสริมประสบการณ์ในวิชาชีพ ทั้งในและต่างประเทศ

 

หลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ

ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ ได้จัดให้มีการศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการในภาคอุตสาหกรรม โดยมีแขนงวิชาดังนี้

  • การออกแบบทางวิศวกรรมด้วยคอมพิวเตอร์
  • วิศวกรรมการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่
  • วิศวกรรมการควบคุมคุณภาพ
  • การวิจัยดำเนินงาน
  • การจัดการและการวางแผนการผลิต
  • การศึกษาวิธีการทำงานและการออกแบบผังโรงงาน
  • การวิเคราะห์ต้นทุนและการตัดสินใจ
  • การบริหารงานอุตสาหกรรม

 

หลักสูตรวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์

ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ ได้จัดให้มีการศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการในภาคอุตสาหกรรม โดยมีแขนงวิชาดังนี้

  • โลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทาน
  • การออกแบบระบบการขนถ่ายวัสดุ
  • เทคโนโลยีสารนเทศสำหรับระบบโลจิสติกส์
  • การจัดการขนส่งและการกระจายสินค้า
  • การจัดการสินค้าคงคลังและคลังสินค้า
  • การวางแผนและควบคุมการผลิต
  • กฎหมายโลจิสติกส์
  • ภาษาต่างปะเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี

 

บทบาทและหน้าที่

วิศวกรอุตสาหการและวิศวกรการจัดการและโลจิสติกส์เป็นตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาวะการแข่งขันทางการตลาดที่สูงขึ้น คู่แข่งทางการค้ามีจำนวนมาก ลูกค้ามีทางเลือกสินค้ามากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตสินค้าต้องปรับปรุงสินค้าให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น เพื่อตรงตามความต้องการของลูกค้า มีราคาขายที่ลูกค้ายอมรับ และสามารถแข่งขันทางการตลาดได้ ทำให้การวิเคราะห์หาแนวทางในการเพิ่มคุณภาพ การลดต้นทุนการผลิต การลดของเสียและการผลิตให้ทันเวลาเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในทุกๆ อุตสาหกรรมการผลิตและบริการ

วิศวกรอุตสาหการและวิศวกรการจัดการและโลจิสติกส์เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในการออกแบบ การวางแผน (Planning) การคิดวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางในการแก้ปัญหา การปฏิบัติใช้ในหน้างาน (Implementing) และการควบคุม (Controlling) ของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในกระบวนการทางโซ่อุปทาน (Supply Chain Process) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

มีความเข้าใจในการจัดการโซ่อุปทานหรือเครือข่ายโลจิสติกส์ คือ การนำกลยุทธ์ วิธีการ แนวปฏิบัติ หรือทฤษฎี มาประยุกต์ใช้ในการจัดการ การส่งต่อวัตถุดิบ สินค้าหรือบริการ จากหน่วยหนึ่งในโซ่อุปทานไปยังอีกหน่วยหนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนรวมในโซ่อุปทานต่ำที่สุดและได้รับ/วัตถุดิบ สินค้าและบริการตามเวลาที่ต้องการ พร้อมกันนี้ยังมีการสร้างความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูล ข่าวสาร ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม เพื่อให้ทราบถึงความต้องการอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการส่งต่อของวัตถุดิบ สินค้าหรือบริการนี้ นำไปสู่การได้รับผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย

 

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

  • เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย สายวิทย์ – คณิต จากสถานศึกษาที่รองรับโดยกระทรวงศึกษาธิการ
  • มีคุณสมบัติอื่นๆ ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
  • ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมการรับสมัครได้ที่ www.eng.su.ac.th

 

การให้ทุนการศึกษา

หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีการสนับสนุนให้ทุนการศึกษาทางมหาวิทยาลัย และภาควิชาฯ มีการสนับสนุนให้ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีและความประพฤติเรียบร้อย ในทุกปี

นอกจากนี้นักศึกษาสามารถเข้าร่วมโครงการของรัฐบาลการจัดสรรกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา